วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2550

เรื่องของตัวเหี้ย



"ตัวเงินตัวทอง" หรือ "ตัวเหี้ย" เป็นสัตว์เลื้อยคลานในกลุ่ม monitor lizard ด้วยรูปร่างที่แปลกประหลาดและพฤติกรรมส่วนตัวของมัน ทำให้คำว่าตัวเหี้ยกลายเป็นภาษาที่ไม่สุภาพในที่สุด ทั้งที่แท้จริงแล้ว "เหี้ย" คือชื่อที่ถูกต้อง
บรรพบุรุษของสกุลนี้ถือกำเนิดในช่วงปลายของยุคไดโนเสาร์เมื่อประมาณ 65 ล้านปีก่อน ผ่านร้อนผ่านหนาวมาจนกระทั่งเหลืออยู่ปัจจุบันประมาณ 67 ชนิดใน 3 ทวีปคือ ออสเตรเลีย เอเชีย และแอฟริกา สำหรับชนิดที่มีความยาวมากที่สุด 2 อันดับแรกอยู่ในทวีปเอเชีย คือ มังกรโคโมโด (Varanus komodoensis) ในประเทศอินโดนีเซีย ส่วนตัวเหี้ย ยาวเป็นอันดับที่สอง มีความยาวได้ถึง 2.5-3 เมตร

ตัวเหี้ย (Varanus salvator) หรือชื่อสากลว่า water monitor มีรูปร่างดูคล้ายกิ้งก่าขนาดใหญ่ ปลายลิ้นแยกเป็นสองแฉกคล้ายงู ใช้สำหรับรับกลิ่นต่างๆ รอบตัว ชอบอาศัยอยู่บริเวณใกล้แหล่งน้ำ พบได้ทั้งในบริเวณแหล่งน้ำจืดและน้ำเค็ม เช่น ป่าจากและป่าชายเลน ว่ายน้ำเก่งกว่าเพื่อนๆ ในสกุลเดียวกัน ดำน้ำได้นาน เวลาที่ตกใจหรือเจอศัตรูมักจะหนีลงน้ำไปอย่างรวดเร็ว ชอบหากินของเน่าเปื่อย เศษซากอาหาร บางครั้งก็จะกินสัตว์เป็นๆ เช่นไก่หรือเป็ดที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้

ในประเทศไทย เพื่อนๆ ของตัวเหี้ยยังมีอยู่อีก 3 ชนิด ตัวแรกคือ คือ ตะกวด (Varanus bengalensis nebulosus) หรือภาษาอีสานเรียกว่า "แลน" คนมักเข้าใจผิดว่าเป็นตัวเหี้ยเสมอ ตะกวดจะมีสีเรียบออกโทนสีน้ำตาลทั้งตัว ขณะที่ลำตัวของตัวเหี้ยเป็นสีดำมีลายดอกสีเหลืองเรียงอยู่อย่างมีระเบียบ รูปร่างส่วนใหญ่อาจจะดูคล้ายกัน แต่เมื่อสังเกตที่รูจมูกของตะกวด จะเห็นว่าอยู่ห่างจากปลายปากมาก ต่างจากตัวเหี้ยซึ่งรูจมูกอยู่ใกล้ปลายปากมาก ทั้งนี้เพราะกระบวนการวิวัฒนาการของรูปร่างนั่นเอง จมูกที่ใกล้ปลายปากทำให้ตัวเหี้ยสามารถอยู่ในน้ำได้นาน เวลาที่มันดำน้ำมันไม่ต้องเสียเวลาโผล่ขึ้นมาหายใจทั้งหัว เพียงแค่โผล่ส่วนปลายของหัวขึ้นมาก็หายใจได้แล้ว ขณะที่สายตายังคงกวาดหาเหยื่อในน้ำต่อไปได้ ส่วนตะกวดนั้นอาศัยอยู่ตามที่ดอน ห่างจากแหล่งน้ำออกมา ใช้ปากในการขุดคุ้ยอาหารซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกแมลงต่างๆ และสัตว์ขนาดเล็กๆ จมูกของมันจึงต้องอยู่ห่างจากปลายปากออกมา สองชนิดนี้เป็นชนิดที่พบได้ง่ายและพบได้ทั่วประเทศไทย

อีก 2 ชนิดที่เหลือคือ เห่าช้าง (Varanus rudicollis) และตุ๊ดตู่ (Varanus dumerilii) พบทางแถบตอนใต้ของประเทศไทยเท่านั้น เห่าช้างฟังชื่อดูคล้ายงูเห่า แต่จริงๆ แล้วเป็นกลุ่มเดียวกับตะกวดและตัวเหี้ย เกล็ดที่คอดูคล้ายๆ หนามของทุเรียน ตัวสีดำมัน มีจุดสีเหลืองบ้างประปราย ชื่อเห่าช้างได้มาจากเสียงที่ใช้ขู่ศัตรู ฟังดูคล้ายเสียงขู่ของงูเห่า เชื่อกันว่าน้ำลายมีพิษ หากถูกกัดจะเป็นอันตรายถึงตายได้ ที่จริงแล้วเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะสัตว์ในสกุลนี้ไม่มีต่อมพิษเช่นพวกงู ดังนั้นอันตรายที่เกิดขึ้น เป็นเพราะบาดแผลสกปรก ไม่รักษาความสะอาดและติดเชื้อเท่านั้น ส่วนเพื่อนชนิดสุดท้ายของตัวเหี้ยคือ ตุ๊ดตู่ เป็นชนิดที่เล็กที่สุดในประเทศไทย เกล็ดที่คอแบนราบมีขนาดใหญ่ เมื่อออกมาจากไข่ 1-2 สัปดาห์แรกจะมีสีสันที่หัวเป็นสีส้ม สวยงามมาก จากนั้นสีส้มนี้จะค่อยๆ จางหายไป นิสัยรักสงบ ไม่ดุร้าย

เมื่อถึงช่วงผสมพันธุ์ในฤดูฝน ตัวเหี้ยจะจับคู่กันโดยไม่เลือกว่าคู่จะต้องเป็นตัวเดิม บางครั้งอาจมีการต่อสู้รุนแรงระหว่างตัวเหี้ยเพศผู้เพื่อแย่งชิงตัวเมีย โดยปกติแล้ว ไข่จะมีลักษณะรียาว บางครั้งจะสีขาวขุ่น จำนวนมากน้อยนั้นขึ้นอยู่กับขนาดและชนิดของแม่พันธุ์ ตัวเหี้ยส่วนใหญ่จะวางไข่ประมาณ 6-30 ฟองหรืออาจจะถึง 50 ฟอง ในขณะที่ตุ๊ดตู่วางไข่ครั้งละประมาณ 4-14 ฟอง ในแต่ละปีจะสามารถวางไข่ได้ 2-3 ครั้ง หรืออาจมากกว่านั้นในพื้นที่ซึ่งสภาพในฤดูแล้งและฤดูฝนไม่แตกต่างกัน ไข่จะถูกกลบเป็นเนินดินหรือรังปลวก เวลาในการฟักขึ้นกับชนิดและสภาพแวดล้อม

แหล่งอ้างอิง : www.google.co.th

2 ความคิดเห็น:

note กล่าวว่า...

ดีมาก

น้อง YiN กล่าวว่า...

น่าจะย่อข้อความลงให้สั้นกว่านี้หน่อย อาสจจะทำให้เหลือสัก 5-7 บรรทัด เพื่อความ สบายตา 0_0*